คำอธิบาย
ผักแพว หรือ ผักไผ่ (Vietnamese Mint) เป็นผักพื้นบ้านที่ดั้งเดิมนิยมรับประทานในกลุ่มคนภาคเหนือ และอีสาน แต่ปัจจุบัน เริ่มนิยมรับประทานเพิ่มขึ้นมากในทุกภาค เนื่องจาก เป็นผักที่ให้รสเผ็ดร้อนคล้ายข่า โดยเฉพาะคนในภาคอีสาน และภาคเหนือ นิยมใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารจำพวกลาบ หรือ ซุปหน่อไม้ รวมถึงน้ำพริก และอาหารจำพวกต้ม ซึ่งสามารถดับกลิ่นคาวได้เป็นอย่างดี ส่วนภาคใต้นิยมใช้สอยใส่ข้าวยำ และรับประทานเป็นผักสดคู่กับอาหารพื้นบ้าน
ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
ผักแพว (ทั่วไป โดยเฉพาะอีสาน), พริกบ้า, หอมจันทร์
ภาคเหนือ
ผักไผ่
ภาคอีสาน
ผักแพว,จันทร์โฉม,พริกม้า
ภาคใต้
จันทร์แดง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น ของ ผักแพว หรือ ผักไผ่
ผักแพว หรือ ผักไผ่ เป็นพืชล้มลุกอายุมากกว่า 1 ปี มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 20-30 ซม. ขนาดลำต้นเล็กเท่าไม้เสียบลูกชิ้น ลำต้นมีลักษณะทรงกลม เป็นข้อปล้อง ไม่แตกกิ่งสาขา แต่แตกเหง้าได้หลายเหง้า ผิวลำต้นมีสีเขียวอมม่วงแดง ส่วนรากเป็นระบบรากฝอยที่แตกออกจากเหง้าจำนวนมาก รวมถึงมีรากที่แตกออกจากข้อบริเวณเหนือดิน และรากสามารถแตกออกจากข้อบริเวณส่วนต่างๆได้ หากข้อบริเวณนั้น สัมผัสกับน้ำหรือดิน
ใบ ของ ผักแพว หรือ ผักไผ่
ใบผักแพว หรือ ผักไผ่ เป็นใบเดี่ยว แตกออกบริเวณข้อของลำต้น โยมีกาบที่ต่อกับก้านใบหุ้มเหนือบริเวณข้อ ก้านใบมีหูใบทั้ง 2 ข้าง และสั้นประมาณ 0.5-1 ซม. ใบมีลักษณะเรียวยาว โคนใบแคบ กลางใบกว้าง และปลายใบแหลม ใบยาวประมาณ 7-10 ซม. กว้างสุดบริเวณกลางใบประมาณ 1.5-2.5 ซม. แล้วค่อยๆเรียวแหลมจนสุดปลายใบ ผิวใบเรียบ เป็นมันเล็กน้อย ใบมีสีเขียวสดถึงเขียวเข้ม มีเส้นกลางใบเป็นร่องมองเห็นชัดเจน และมีเส้นใบแตกย่อยเรียงเยื้องกันออกด้านข้าง
ดอก ของ ผักแพว หรือ ผักไผ่
ดอก ผักแพว หรือ ผักไผ่ ออกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของลำต้น ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตูมมีสีม่วงแดง ดอกหลังบานใหม่ๆจะมีสีขาวอมม่วง ดอกบานเต็มที่จะมีสีขาว
เมล็ด ของ ผักแพว หรือ ผักไผ่
เมล็ด ผักแพว หรือ ผักไผ่ ไม่ค่อยติดผลให้เห็นนัก เพราะเมล็ดมีขนาดเล็ก แก่เร็ว และร่วงง่าย
ประโยชน์ผักแพว หรือ ผักไผ่
- ใช้ประกอบอาหารเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว
- ใช้เป็นผักรับประทานสดคู่กับกับข้าว เช่น ลาบ น้ำตก ซุปหน่อไม้ เป็นต้น
ลำต้น และใบ หรือ ผักไผ่
- ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยเจริญอาหาร และช่วยย่อยอาหาร
- แก้อาการท้องผูก
- แก้อาการท้องเสีย
- รักษาอาการไข้หวัด ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
- ใช้บดทารักษาอาการผื่นคัน
- ใช้บดทาเพื่อลดอาการบวมแดง และอาหารปวดจากพิษแมลงกัดต่อย
- ใช้บดประคบแผล รักษาการอักเสบของแผล ป้องกันการติดเชื้อของแผล
- ใบ และลำต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของผิว และลดพิษจากสารเคมีในร่างกาย
- ลดการเสื่อม และรักษาประสิทธิภาพการทำงานของตับ และไต
- กระตุ้นการสร้างสารกลูต้าไธโอนในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณแลดูขาว มีน้ำมีนวลขึ้น
- ปริมาณวิตามิน A ที่มีสูง ช่วยบำรุงเซลล์ตา ป้องกันการเสื่อมของสายตา และโรคทางสายตา
- ผักแพวมีปริมาณแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง ช่วยเสริมสร้างกระดูก และป้องกันการเสื่อมของกระดูก รวมถึงป้องกันโรคกระดูกต่างๆ
- ใบผักแพวนำมาเคี้ยว ช่วยลด และดับกลิ่นปาก กลิ่นบุหรี่
- การเคี้ยวผักแพวจะช่วยลดอาการอักเสบของแผลในปาก รวมถึงลดแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบ
ผักแพวมีวิตามิน C สูง ช่วยออกฤทธิ์ทางยา ได้แก่
- ลดอาการของโรคเบาหวาน และลดอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่น
- ป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งกระเพาะอาหาร และลำไส้ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด ลดภาวะหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด
- ป้องกันโรคต้อกระจก
รากผักแพว
- ช่วยขับปัสสาวะ
- นำมาบดทารักษาแผลติดเชื้อ
- บด และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง
ข้อควรระวัง ของผักไผ่ หรือ ผักแพว
- จากรสเผ็ดร้อนของ ผักแพว หรือ ผักไผ่ หากรับประทานมากจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในช่องปาก คอ และกระเพาะอาหาร ทำให้เสี่ยงต่อการระคายเคือง และเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
การปลูกผักแพว หรือ ผักไผ่
ผักแพว หรือ ผักไผ่ เป็นพืชที่ชอบดินที่มีความชื้นสูง สามารถปลูก และขยายพันธุ์ด้วยการปักชำลำต้น การขยายเหง้า และการหว่านเมล็ด แต่ที่นิยมจะใช้วิธีปักชำต้น หรือ แยกเหง้าปลูก
การเตรียมดิน และการปลูก ผักแพว หรือ ผักไผ่
การปลูกในครัวเรือนทั่วไป มักปลูกตามสวนหลังบ้านหรือพื้นที่ว่างที่ค่อนข้างชื้น การเตรียมดินด้วยการพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด หลังจากนั้น ค่อยนำลำต้นที่เด็ดได้จากกอหรือขุดเหง้ามาลงปลูก ระยะห่างลำต้น 5-10 ซม. หากเป็นเหง้าจะใช้เหง้า 3-5 ต้น ปลูกลงแปลง ระยะห่างของเหง้าประมาณ 10-15 ซม.
สำหรับการปลูกด้วยการปักชำลำต้น เกษตรกรจะใช้เทคนิคเร่งให้แตกรากก่อน แล้วค่อยนำลงปลูกลงดิน โดยใช้วิธีนำกอผักแพวที่ตัดจากแปลงมาแช่น้ำ โดยแช่ในน้ำให้ท่วมลำต้นประมาณ 2-3 ข้อ ซึ่งแช่ไว้ประมาณ 3 วัน ลำต้นจะเริ่มแตกรากสีขาวออกบริเวณข้อ หลังจากนั้น นำปลูกลงดินได้
การดูแลรักษา ผักแพว หรือ ผักไผ่ ไม่ยุงยากมาก เพียงแต่ต้องคอยรดน้ำให้ชุ่มเสมอเท่านั้น และอาจใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีร่วมด้วย ปุ๋ยเคมีที่ใช้จะเน้นเรื่องการบำรุงใบ และลำต้น โดยใช้สูตร 24-8-8 หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย
การเก็บผักแพว หรือ ผักไผ่
ผักแพว หรือ ผักไผ่ ที่ปลูกใหม่จะเริ่มแตกเหง้าที่เป็นลำต้นใหม่หลังปลูกประมาณ 1 เดือน และสามารถเริ่มเก็บยอดได้ประมาณเดือนที่ 3 ซึ่งการเก็บยอดอาจใช้มีดตัดหรือใช้มือเด็ด ความยาวที่เด็ดประมาณ 15-20 ซม. โดยให้เหลือลำต้นไว้สำหรับแตกเหง้าใหม่
ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของผักไผ่ ที่มีความหอมฉุนของใบและยอด เป็นพืชที่ให้สารเยื่อใยหรือไฟเบอร์สูงมากกว่าพืชอื่น ทำให้ผักไผ่เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรหลายคนไม่ควรมองข้าม เพราะผักไผ่สามารถปลูกเป็นพืชสวนครัวก็ได้ เป็นผักการค้าก็ได้ เป็นไม้ประดับก็ดีมีประโยชน์มากกว่า ปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ พื้นดิน กระถาง กระบะ เรือรั่ว กะละมังรั่ว กระป๋อง สารพัดที่หาได้เหลือใช้จากครัวเรือน ดูแลให้น้ำก็ไม่มาก น้ำเหลือจากการอาบ ล้างหน้า ล้างเนื้อ ล้างปลา เศษมูลนก มูลสัตว์เลี้ยงที่เป็นปัญหาของชาวเมืองขณะนี้ ทำเป็นปุ๋ยผักไผ่ได้อย่างดี สารเคมีไม่ได้กล้ำกรายปลอดภัย เพราะเป็นพืชที่ไม่มีศัตรูรบกวน หรือมีบ้างเล็กน้อย ก็จะมีพวกมด แตน ช่วยขจัดให้
ผักไผ่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว เพียงแต่ชาวบ้านเราต้องรู้จักวิธีการ “ต่ออายุผักไผ่” คือ หมั่นเด็ดยอด อย่าปล่อยให้ออกดอก แยกขยายกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ไปปลูกเปลี่ยนกระถาง เปลี่ยนดิน เปลี่ยนที่ ปีละครั้ง สองครั้ง เป็นการต่ออายุให้ใช้ประโยชน์ได้หลายชั่วอายุพืช มีให้เก็บกินตลอดปี ไม่ขาดหายไปจากครัวเรือน 🙂
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์