คำอธิบาย
ชื่ออื่นๆ : หนาดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดวัว (อุดรธานี) เพี้ยฟาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ขลู คลู(ใต้) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน)
ต้นกำเนิด : ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนของประเทศเขตร้อน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น
ชื่อสามัญ : ขลู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (Linn.) Less
ชื่อวงศ์ : Compositae
ลักษณะของเพี้ยฟาน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กมีความสูง 1-2 เมตร ใบรูปไข่กลับปลายแหลม ขอบหยักโดยรอบ มีขนสีขาวปกคลุม ก้านสั้น ดอกเล็กเป็นกระจุกรวมกันเป็นช่อ สีขาวอมม่วงออกตามซอกใบ เกิดตามที่รกร้าง ชอบดินเค็มหรือ ดินกร่อย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ของเพี้ยฟาน
ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มได้ ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้ง จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง ใช้ชงดื่มแทนชา
สรรพคุณทางยาของเพี้ยฟาน
- ดอก แก้นิ่ว ราก แก้กษัย ขับนิ่ว
- ทั้งต้น แก้นิ่วในไต ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ริดสีดวงทวาร แก้มุดกิตระดู ขาว
แก้ตานขโมย - เปลือกต้น แก้ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร
ใบขลู่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ ใบขลู่ 100 กรัมมีกรดคลอโรจีนิก 20 มิลลิกรัม กรดคาเฟอิก 8.65 มิลลิกรัม และเคอร์ซิติน 5.21 มิลลิกรัม ผลการวิจัยของ Andarwulan และคณะในปีพ.ศ. 2553 ได้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบขลู่ มีฤทธิ์ที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของลิปิดได้ดีมาก ซึ่งนอกจากนี้แล้วได้มีรายงานทางเภสัชวิทยาหลายฉบับยืนยันฤทธิ์ทางชีวภาพของใบขลู่ สรุปสาระสำคัญโดยย่อได้ดังนี้ สารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเอทานอลเข้มข้น 70% เป็นเวลา 2 วัน พบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดการปวดในสัตว์ทดลอง ซึ่งฤทธิ์ต้านการอักเสบได้รับการยืนยันซ้ำ จากผลการศึกษาการใช้สารสกัดใบขลู่เฉพาะส่วนที่สามารถละลายได้ทั้งในเอทานอลและเอธิลอะซิเตต สำหรับสารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเมทานอลเข้มข้น 80% เป็นเวลา 7-14 วัน พบว่ามีฤทธิ์ต้านโรควัณโรค
คุณค่าทางโภชนาการของเพี้ยฟาน
ใบขลู่สด 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- โปรตีน 1.8 กรัม
- ไขมัน 0.5 กรัม
- ใยอาหารแบบละลายน้ำ 0.5 กรัม
- ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ 0.9 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 8.7 กรัม
- แคลเซียม 250 มิลลิกรัม
- เบต้า–แคโรทีน 1.2 มิลลิกรัม
- น้ำ 87.5 กรัม
ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมและปริมาณเบต้า–แคโรทีนที่พบในใบขลู่สด 100 กรัม เป็นปริมาณที่ใกล้เคียงเคียงเทียบเท่ากับปริมาณแคลเซียมที่ได้จากการดื่มน้ำนม 1 แก้ว (8 ออนซ์) และปริมาณเบต้า–แคโรทีนที่ได้จากการกินเนื้อฟักทองสุก 100 กรัม ตามลำดับ เบต้า–แคโรทีนเป็นรงควัตถุสีเหลืองที่พบในพืชและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี อย่างไรก็ตามใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมากเนื่องมาจากต้นขลู่ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่มาจากความเค็มของดิน ดังนั้นผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก
เพี้ยฟาน ทางภาคเหนือเรียก “เพี้ยฟาน” หรือ “ขี้ฮอก” หรือ “เหมือดหม่น” หรือ “เฮือดหม่น” ภาคกลางเรียก “ต่อไส้” หรือ “สันโสก” หรือ “ระงับพิษ” คนอีสานเรียก “หัสคุณเทศ” หรือ “สมัคน้อย” หรือ “สมัคขาว” เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 50-150 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว ผิวเปลือกต้นเรียบ แตกกิ่งก้านสลับกัน ใบจะแตกออกจากกิ่งสลับกัน เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยออกตามแกนใบตรงข้ามกัน ประมาณ 7-11 คู่ ใบย่อยรูปร่างกลมรี ใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลมคล้ายใบผักหวานบ้าน ก้านใบยอดมีสีแดงคล้ำ มองเห็นสีสันชัดเจน สวยสง่าน่าเกรงขาม ดอกออกเป็นช่อ ดอกบานสีเขียวอมม่วง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ปลูกขยายได้ด้วยวิธีแยกหน่อ ปักชำกิ่ง ชำราก ชำยอด เจริญเติบโตได้ง่ายและโตเร็ว โดยเฉพาะฤดูฝน มีพบในป่าละเมาะ ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกข้างรั้วบ้าน แต่ยังไม่เคยพบเห็นนำมาขายตามท้องตลาด คงเป็นเพราะยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก หรือมีคนส่วนน้อยที่ชื่นชอบรสชาติของเพี้ยฟาน หรืออาจจะเป็นเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักกันก็เป็นได้
ผักชนิดนี้นับวันจะหายากขึ้นทุกที ด้วยเหตุว่าความนิยมไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก มีหลายคนเจอใบพืชที่มีรสขมหลายอย่าง ก็เรียกว่าเพี้ยฟานไปด้วย ทำให้ความชัดเจนของผักเพี้ยฟาน กลายเป็นผักนอกตำราไปเสีย ทำให้เป็นผักที่ด้อยค่าราคาน้อย มีบันทึกว่าเพี้ยฟานเป็นพืชสมุนไพร เป็นยาพื้นบ้าน มีสรรพคุณบ่งบอกว่า นอกจากจะใช้ยอดอ่อนเป็นผักกับแกล้มลาบขม ยำ ส้าเนื้อ ชาวบ้านมีวิธีการลดความขม โดยการลวกเปลวไฟ ย่างไฟแรงๆ หรือกินสดเอาความขมเพรียวๆ ก็มี ชาวม้งกินแก้ท้องผูก
หมอชาวบ้าน โดยเฉพาะหมอชาวเผ่าชาวเขาต่างๆ ทั้งกะเหรี่ยง ม้ง ลีซอ ใช้ต้นเพี้ยฟานทั้งต้น ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน กำจัดเหา ไร รักษาแผลเปื่อย แผลจากการคันและเกา แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาบแก้วิงเวียนศีรษะ ดื่มแก้สรรพพิษต่างๆ อาบแก้ไข้ ไม่สบาย โดยเฉพาะหญิงหลังคลอด ตำพอกแผลแก้อาการอักเสบ ช้ำบวมจากไฟ น้ำร้อนลวก เปลือกต้นมีสรรพคุณ มีสารต้านพิษที่จะทำลายตับ ต้านอาการปวดอักเสบ ใบและส่วนทั้งห้า แก้ไข้มาลาเรีย วัณโรค ห้ามเลือด ฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนัง แม้แต่นำมาใช้เป็นน้ำยาอาบกำจัดไรให้ไก่ และเชื่อแน่ว่าสักวันหนึ่งคงมีการวิจัยค้นพบสรรพคุณทางยาใหม่ๆ ออกมาได้อีกแน่ ซึ่งก็เหมือนผักที่มีรสขมทั่วไป ล้วนแต่มีสารที่มีรสขม ส่วนใหญ่แล้วผักที่มีรสขมมักจะเป็นยาที่หมอพื้นบ้านของเรานำมารักษาโรคต่างๆ หรือใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง เหมือนโบราณว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ให้สังเกตว่าเพี้ยฟานทางภาคกลางเรียก “ต่อไส้” มีความหมายเป็นนัยสำคัญถึงความอยู่รอด คือการประทังชีวิตให้ยืนยาวต่อไปอีกชั่วระยะหนึ่ง หรือต่ออายุ ทำให้กินอาหาร และมีอาหารกิน สิ่งนั้นคงหมายถึงการเป็นยารักษาชีวิตได้อย่างแน่แท้