คำอธิบาย
การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา
ดิน
ควรเป็นดินที่มีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสูง มีส่วนผสมของขุยไผ่ ใบทองหลาง ใบมะขาม หรือใบก้ามปูที่ผุแล้ว
น้ำ
บอนสีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าต้นบอนขาดน้ำจะชะงักการเจริญเติบโต ไม่สดใส การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้งตอนเช้าและตอนเย็น ไม่ควรใช้สายยางฉีดน้ำที่โคนต้นเพราะจะทำให้กระทบกระเทือนอาจทำให้ต้นและใบของบอนสีฉีกขาดและหักได้ ถ้าปลูกในกระถางควรมีจานรองกระถางใส่น้ำไว้เสมอ
แสงแดด
สีผลต่อสีสันและลวดลายของใบบอนมาก ถ้าบอนสีได้รับแสงแดดน้อยเกินไปจะทำให้ใบบอนมีสีซีดไม่สวยงาม ถ้าได้รับแสงแดดมากจะทำให้ใบมีสีสด เข้ม และ ลวดลายสวยงาม แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบห่อเหี่ยวและเป็นรอยไหม้ได้ ดังนั้นแสงแดดที่เหมาะสมในการเลี้ยงบอนคือแสงแดดรำไรในตอนเช้าหรือช่วงบ่ายที่ไม่ร้อนจัด หรืออาจใช้ที่พรางแสง 50-70% ช่วยก็ได้
ความชื้นในอากาศ
บอนเป็นพืชที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง ในฤดูหนาวและฤดูร้อนความชื้นในอากาศต่ำหัวบอนจะพักตัวและทิ้งใบหมด เมื่อถึงฤดูฝนความชื้นในอากาศสูงบอนจึงจะเริ่มผลิใบเติบโตอีกครั้ง เพื่อป้องกันการพักตัวของบอนในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนจึงมีการปลูกเลี้ยงบอนในตู้หรือในกระโจม
การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยอินทรีย์ควรใช้ปุ๋ยคอกมูลหมูและมูลไก่ ส่วนมูลวัวเมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ดินเละทำให้หัวเน่าได้ง่าย ปุ๋ยเคมีใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำๆ จะช่วยให้ใบดกและสีสันสวย ถ้าใส่มากจะทำให้ชั้นใบห่างเกินไป ไม่ควรใช้ปุ๋ยละลายน้ำที่ให้ทางใบเพราะอาจทำให้ใบเป็นรอยไหม้ได้ เนื่องจากผิวใบของบอนสีบอบบาง
การขยายพันธุ์
การแยกหน่อ
เป็นวิธีการขยายพันธุ์บอนที่ไม่ยุ่งยากและบอนต้นใหม่ที่ได้จะเหมือนต้นเดิมทุกประการคือไม่มีการกลายพันธุ์ไปจากเดิม การแยกหน่อควรทำในฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่พ้นระยะพักตัว บอนต้นใหม่ที่แยกออกมาจะเติบโตและแข็งแรงได้เร็ว การแยกหน่อมีวิธีปฏิบัติดังนี้
- เลือกต้นบอนที่สมบูรณ์และมีหน่อแตกใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วบอนที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปจะเริ่มแตกหน่อและผลิใบใหม่ สามารถแยกหน่อไปปลูกใหม่ได้
- นำต้นบอนมาล้างหัวให้สะอาด อย่าให้ผิวถลอกหรือช้ำเพราะจะทำให้หัวเน่าได้ง่าย
- ใช้มีดที่คมและสะอาดเฉือนหน่อใหม่ที่ต้องการแยกออกจากหัวเดิม ทาปูนแดงตรงรอยผ่า ผึ่งให้แห้ง
- นำหน่อที่แยกออกมาปลูกลงในกระถางขนาดเล็ก รดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ในที่มีแสงรำไร ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ใบใหม่จึงจะเริ่มผลิออกมา
การผ่าหัวบอน
คือการนำหัวบอนมาผ่าแบ่งเป็นชิ้นๆ แล้วนำมาชำในวัสดุชำให้เกิดเป็นต้นใหม่ การผ่าบอนเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากเพราะสามารถขยายพันธุ์ได้ต้นบอนจำนวนมากในเวลาอันสั้น แต่การผ่าบอนมักทำให้เกิดการกลายพันธุ์ไปจากต้นเดิม เรียกว่า “บอนแผลง” การผ่าบอนควรทำในฤดูฝนเพราะเป็นช่วงที่พ้นระยะพักตัวของบอนไปแล้วและอากาศมีความชื้นสูง ทำให้ต้นใหม่ที่ได้ผลิใบได้เร็วกว่าฤดูอื่น การผ่าบอนมีวิธีปฏิบัติดังนี้
- เลือกบอนที่มีอายุไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ควรมีอายุประมาณ 6-12 เดือน เพราะถ้าหัวบอนแก่เกินไปชิ้นบอนจะเน่าง่าย ถ้าอ่อนเกินไปต้นใหม่ที่ได้จะไม่แข็งแรง
- งดให้น้ำประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้บอนสร้างหัวและเขี้ยว
- นำหัวบอนมาล้างให้สะอาด พร้อมทั้งตัดรากออกให้หมด ใช้แปรงเล็กๆ ขัดดินออกให้หมด ระวังอย่าให้เขี้ยวหัก แล้วผึ่งลมให้แห้ง
- การผ่าหัวบอนทำได้สองวิธีคือ
- แบบไม่ล้มต้น คือการนำหัวบอนมาตัดเฉพาะบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่และเหลือหัวเดิมไว้ปลูกต่อได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากเพราะสามารถเก็บต้นพันธุ์ไว้ได้ การผ่าให้ใช้มีดที่คมและสะอาดกรีดหัวบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่กว้างยาวประมาณ 1 ซม. หนาประมาณ 0.5 ซม. นำชิ้นบอนมาล้างให้สะอาดเพื่อนำไปชำต่อไป สำหรับหัวบอนที่เหลืออยู่ติดกับต้นให้ทาบริเวณรอยผ่าด้วยปูนแดง ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำไปปลูกลงกระถางต่อไป
- แบบล้มต้น คือการนำหัวบอนมาตัดลำต้นและใบออกให้หมดแล้วนำหัวบอนมาผ่า วิธีนี้จะไม่เหลือต้นพันธุ์ไว้แต่จะได้ชิ้นบอนสำหรับชำมากกว่า การผ่าให้ใช้มีดที่คมและสะอาดตัดใบออกโดยไม่ให้แกนกลางของหัวที่เรียกว่า “จอม” หัก ผ่าหัวส่วนบนในแนวนอน ให้มีเนื้อหนาประมาณ 0.5 ซม. แล้วแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 ซม.โดยให้แต่ละชิ้นมีเนื้อแกนกลางของหัวติดอยู่ในลักษณะเดียวกับการตัดแบ่งขนมเค้ก สำหรับหัวบอนส่วนล่างที่เหลือให้นำมาผ่าแบ่งบริเวณที่มีเขี้ยวติดอยู่เช่นเดียวกับการผ่าแบบไม่ล้มต้น นำชิ้นบอนมาล้างให้สะอาดเพื่อนำไปชำต่อไป
- นำชิ้นบอนที่ได้จากการผ่ามาล้างในน้ำสะอาด หรือน้ำที่ผสมยาป้องกันเชื้อราประมาณ 5 นาที เพื่อล้างยางออกให้หมด ผึ่งให้แห้งพอหมาด
- นำชิ้นบอนที่ล้างสะอาดแล้วไปชำในภาชนะที่มีวัสดุชำซึ่งอาจใช้ ทราย อิฐมอญทุบละเอียด หรือขี้เถ้าแกลบ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นวัสดุชำ วางชิ้นบอนลงบนวัสดุชำให้ห่างกันพอสมควร จะวางคว่ำหรือหงายก็ได้ กดชิ้นบอนให้จมวัสดุชำเล็กน้อย รดน้ำหรือน้ำผสมยาป้องกันเชื้อราให้ชุ่ม
- ปิดภาชนะด้วยพลาสติกใสหรือกระจกใส นำไปไว้ในที่ร่มแสงส่องไม่ถึง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ชิ้นบอนจะเริ่มแตกหน่อและราก และอีกประมาณ 2 เดือน ชิ้นบอนจะผลิใบ 1-2 ใบ จึงย้ายลงปลูกในกระถางต่อไป
การเพาะเมล็ด
คือการนำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรมาเพาะให้เกิดต้นใหม่ วิธีนี้นิยมปฏิบัติเมื่อต้องการบอนลูกผสมที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นพ่อและต้นแม่ ซึ่งอาจดีกว่าหรือด้อยกว่าต้นพ่อต้นแม่ก็ได้ วิธีการเพาะเมล็ดมีดังนี้
- นำเมล็ดแก่มาผึ่งลมให้แห้ง ประมาณ 2-3 ชม. ไม่ควรตากแดดหรือล้างน้ำเพราะเมล็ดอาตายได้
- เมื่อเมล็ดแห้งแล้วอาจนำไปเพาะทันทีหรือภายใน 7 วัน โดยการใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น
- นำเมล็ดมาโรยบนวัสดุที่ใช้ในการเพาะ ซึ่งอาจใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบหรือดินร่วนผสมใบไม้ผุในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน
- รดน้ำที่ผสมด้วยยาป้องกันเชื้อราแล้วนำไปตั้งไว้ในที่ร่ม รักษาระดับความชื้นไว้อย่าให้แห้วหรือแฉะเกินไป ประมาณ 15 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกใบเลี้ยง
- เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 2 เดือน จึงย้ายลงปลูกในกระถางเพื่อคัดเลือกพันธุ์ต่อไป
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือปั่นตา
ให้นำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อเจริญของต้นบอนสีมาเลี้ยงในที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง จนเกิดเป็นกลุ่มเนื้อเยื่อและพัฒนาเป็นบอนสีต้นใหม่