คำอธิบาย
สมุนไพรหนานเฉาเหว่ย หรืออีกชื่อคือป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง สมุนไพรชนิดเดียวกันที่กำลังเป็นที่เลื่องลือถึงสรรพคุณ จริง ๆ แล้วข้อมูลจากสมุนไพรอภัยภูเบศร ยืนยันว่า หนานเฉาเหว่ย หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vernonia amygdalina มี DNA คล้ายคลึงกับต้นป่าช้าหมองมากถึง 98-99% จึงอาจเรียกได้ว่าต้นหนานเฉาเหว่ยและต้นป่าช้าหมองเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกัน โดยชื่อหนานเฉาเหว่ยเพี้ยนมาจากหนานเฝ่ยเย่ แปลว่าพืชที่มาจากทวีปแอฟริกาใต้ และได้เข้ามาในไทยเมื่อประมาณ 10-20 ปีก่อน ทั้งนี้นอกจากชื่อจะเพี้ยนมาเป็นหนานเฉาเหว่ยแล้ว ต้นป่าช้าหมองหรืออีกชื่อที่รู้จักกันก็คือ ต้นขันทองพยาบาท หรือที่หมอพื้นบ้านในล้านนาเรียกว่า ป่าเฮ่วหมอง คำว่า ป่าเฮ่ว หมายถึง ป่าช้า ส่วน หมอง หมายถึง ไม่มีคนใช้บริการ จึงมีการแปลให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ป่าช้าเหงา หรือป่าช้าร้าง ป่าแห้วหมอง (แต่ละพื้นที่ก็เรียกต่างชื่อกันไป) แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร สรรพคุณของหนานเฉาเหว่ยหรือต้นป่าช้าหมองก็เด็ดดวงไม่แพ้สมุนไพรตัวอื่น ๆ เลย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหนานเฉาเหว่ย
หนานเฉาเหว่ย หรือป่าช้าหมอง ป่าช้าหมอง หรือหนานเฉาเหว่ย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงตั้งแต่ 3-7 เมตร ลักษณะใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบเป็นขอบขนาน ขนาดใบกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-22 เซนติเมตร มีดอกเป็นช่อสั้น ๆ ดอกตัวผู้จะมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นกระจุกเล็ก ๆ กว้าง 12 มิลลิเมตร มีกลีบรองดอก 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก แต่จะมีเกสรอยู่มาก ส่วนดอกตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายกันแต่จะมีรังไข่ที่เหนือวงกลีบ และมีขนดอกหนาแน่น ผลมีลักษณะเกือบกลม ผิวเกลี้ยง ขนาดผลประมาณ 2 เซนติเมตร และแบ่งออกเป็นพูเล็ก ๆ จำนวน 3 พู ผลอ่อนจะมีเนื้อสีเขียว ส่วนผลแก่จะมีเนื้อสีเหลืองแสด เมล็ดมีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือ 7-8 มิลลิเมตร โดยหนึ่งผลจะมี 3 เมล็ดอยู่ในแต่ละพูของผล มีเนื้อเยื่อขาว ๆ หุ้มอยู่ ต้นป่าช้าหมอง หรือหนานเฉาเหว่ยนี้ สามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตร โดยจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน และติดผลในเดือนเมษายนถึงมิถุนายนค่ะ
สรรพคุณของหนานเฉาเหว่ย
หนานเฉาเหว่ยเป็นพืชตระกูลเดียวกับพญายอ ฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดได้ พ่วงด้วยประโยชน์ของหนานเฉาเหว่ย ดังนี้
- ลดน้ำตาลในเลือด
งานวิจัยหนานเฉาเหว่ยในสัตว์ทดลองและการใช้หนานเฉาเหว่ยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า หนานเฉาเหว่ยมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถลดความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดของคนที่เป็นโรคเบาหวานและในคนปกติ ส่วนวิธีการกินหนานเฉาเหว่ยก็สามารถเคี้ยวกินใบสด ๆ ได้เลย แต่ทั้งนี้ควรเลือกขนาดใบที่ไม่ใหญ่จนเกินไป (ไม่ใหญ่เท่าฝ่ามือ) และล้างให้สะอาดก่อนกินทั้งนี้ ข้อมูลจากหมอพื้นบ้าน แนะนำว่า ไม่ควรทานใบสดหนานเฉาเหว่ย หรือป่าช้าหมอง เกินวันละ 3 ใบ และขึ้นอยู่กับขนาดของใบด้วย หากใบใหญ่เท่าฝ่ามือ ก็ควรบริโภคเพียงใบเดียว เพราะหนานเฉาเหว่ยมีฤทธิ์แรง นอกจากนี้ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากอาจต้องระวัง เพราะหากทานแล้วก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดยิ่งต่ำ จนเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น ถ้าเป็นมากอาจช็อกได้ - ลดความดันโลหิตสูง
จากงานวิจัยสรรพคุณหนานเฉาเหว่ยพบว่า หนานเฉาเหว่ยมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง เนื่องจากสรรพคุณหนานเฉาเหว่ยช่วยขยายหลอดเลือด จึงช่วยลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงได้ - ลดไขมันในเลือด
จากงานวิจัยพบว่า หนานเฉาเหว่ยลดไขมันในเลือดได้ประมาณ 20% และยังช่วยเพิ่มไขมันชนิดดีในเลือดได้อีกต่างหาก - ป้องกันมะเร็ง
งานวิจัยในหลอดทดลองแสดงให้เห็นฤทธิ์ของหนานเฉาเหว่ยในด้านต่อต้านเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งอัณฑะ มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยสรรพคุณของหนานเฉาเหว่ยช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ปกติ และยังเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตายไปในที่สุด แต่การทดลองนี้ยังคงเป็นเพียงการทดลองในหลอดทดลองเท่านั้นค่ะ - ปกป้องไต
การศึกษาในหนูทดลองพบว่า หนูที่ได้รับป่าช้าเหงามีค่าการทำงานของไตดีขึ้นหรือปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานแล้วไม่ได้รับป่าช้าเหงา อย่างไรก็ตามการใช้ในคน หากเป็นผู้ที่มีปัญหาไตอยู่แล้ว (ค่าการทำงานของไต GFR < 60 ) ไม่แนะนำให้กินยาสมุนไพรใด ๆ ทั้งสิ้น
หนานเฉาเหว่ย ป่าช้าหมอง ในตำรับยาพื้นบ้าน
สรรพคุณของต้นป่าช้าหมองนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากสามส่วนสำคัญอย่าง ราก เปลือกไม้ และเนื้อไม้ โดยแต่ละส่วนที่ว่ามามีสรรพคุณดังนี้ค่ะ
- ราก – ใช้แก้ลม แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้พิษในกระดูก แก้โรคผิวหนัง รักษาน้ำเหลืองเสีย
- เปลือกไม้ – แก้โรคตับพิการ แก้ปอดพิการ รักษาอาการลมเป็นพิษ รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย ใช้รักษาเหงือกอักเสบ บำรุงสุขภาพฟันและเหงือกให้แข็งแรง แก้อาการคันตามผิวหนัง ถ่ายน้ำเหลือง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน คุดทะราด รวมทั้งรักษากามโรคได้
- ใบ – มีรสขม ช่วยบำรุงร่างกาย เพราะมีสรรพคุณปกป้องตับ (แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคตับทาน) มีฤทธิ์ทำให้ตัวอ่อนไม่เกาะติดมดลูก
ทั้งนี้ในตำรับยาพื้นบ้านยังมีการนำลำต้นของต้นป่าช้าหมองหรือหนานเฉาเหว่ยมาใช้ในการต้มอาบสำหรับผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ อีกทั้งยังถูกขนานนามว่าเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เป็นยาอายุวัฒนะ เพราะสมุนไพรชนิดนี้อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอันทรงพลัง ช่วยลดการอักเสบ ชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย และอาจยังสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย
วิธีทานใบหนานเฉาเหว่ยอย่างปลอดภัย
- นำใบสดมาเคี้ยวกินได้ โดยเลือกใบเล็ก ๆ ทานวันละไม่เกิน 3 ใบ และไม่ต้องกินทุกวัน ควรเว้นระยะ 2-3 วันค่อยกินที หากใบใหญ่เท่าฝ่ามือ ให้ทานเพียงใบเดียว
- นำใบเท่าฝ่ามือ 3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ต้มพอเดือด 3-5 นาที ดื่ม 250 มิลลิลิตร ก่อนอาหารเช้า วันละ 1 ครั้ง ตอนตื่นนอน กินบ้างหยุดบ้าง แต่ไม่ควรชงดื่มแทนน้ำ เพราะมีฤทธิ์แรง
- นำใบสดไปปรุงอาหารได้ โดยลวกให้เดือด แล้วเทน้ำทิ้ง เพื่อลดฤทธิ์ของยาก่อน จึงค่อยนำไปรับประทานหรือปรุงอาหาร
- ไม่ควรทานติดต่อกันทุกวัน หรือทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเป็นยาเย็น โดยอาจจะทานติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน แล้วเว้นไป 1 เดือน จึงค่อยเริ่มกินใหม่ เพราะการกินติดต่อกันอาจมีผลกระทบกับร่างกาย
หนานเฉาเหว่ย โทษที่ควรระวัง
ด้วยสรรพคุณของหนานเฉาเหว่ยที่ว่ามา ทำให้หนานเฉาเหว่ยเป็นสมุนไพรที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ดังนี้
- ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต ไม่ควรทาน
- ไม่ควรกินหนานเฉาเหว่ยเป็นยา ในผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คุมความดันโลหิตได้ดีอยู่แล้ว
- สำหรับผู้ป่วย ไม่ควรหยุดทานยาแผนปัจจุบัน หรือขาดการรักษา และหากทานหนานเฉาเหว่ยแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ความดันตก น้ำตาลตก วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น เหงื่อกออก ต้องหยุดกินทันที
- ผู้ป่วยเลือดจาง ควรระมัดระวังในการทาน เพราะบางรายงานพบฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (แต่บางรายงานก็ไม่พบผลดังกล่าว)
- จากการวิจัยในหนูเพศผู้พบว่า การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรืออย่างเข้มข้นอาจเป็นพิษต่ออัณฑะ ดังนั้นชายวัยเจริญพันธุ์ ควรระมัดระวังการทานหนานเฉาเหว่ยติดต่อกันเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อมูลความเป็นพิษของป่าช้าหมอง ในเนื้อไม้ก็มีพิษทำให้เกิดอาการเมา และยังมีฤทธิ์เป็นยาเบื่ออีกด้วย นอกจากนี้ป่าช้าหมองยังมีส่วนทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ดังนั้นหากจะนำป่าช้าหมองมาใช้ก็ควรศึกษาข้อมูลให้ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้สมุนไพรชนิดใดก็ตาม
ขอย้ำอีกครั้งว่าอย่านำสมุนไพรมาใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ควรจะปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมุนไพรจะดีกว่า โดยเฉพาะผู้ป่วยไม่ควรทานสมุนไพรเพื่อหวังผลการรักษา ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองนะคะ
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์